วันจันทร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2551

การเตรียมปลาเพื่อการเพาะพันธุ์

การเตรียมปลาเพื่อการเพาะพันธุ์ การเพาะพันธุ์ปลาทองเพื่อให้ได้ลูกปลาที่มีคุณภาพและปริมาณมากจำเป็นต้องมีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์ซึ่งมีเทคนิคในการเตรียมพ่อแม่พันธุ์ปลา ดังนี้ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การเลี้ยงปลาทองจะประสบผลสำเร็จต่อเมื่อคุณภาพของลูกปลามีลักษณะตรงตามที่ตลาดต้องการ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญมากในการเพาะเลี้ยงปลาทองเพราะลูกปลาจะมีคุณภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับลักษณะที่พ่อแม่พันธุ์ถ่ายทอดมายังลูกหลานซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ดังนี้+ ไม่ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์ครอกเดียวกันมาทำการผสมพันธุ์ เพราะอาจได้ลุกปลาที่มีลักษณะด้อย โตช้าอ่อนแอหรือมีความผิดปกติ เนื่องจากการผสมปลาในครอกเดียวกัน เป็นการผสมเลือดชิด (Inbreeding) + ควรเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ยังมีอายุไม่มากนัก (อายุไม่เกิน 2 ปี) เพราะปลารุ่นมีความปราดเปรียว วางไข่ได้ครั้งละมาก ๆ น้ำเชื้อมีความแข็งแรงสมบูรณ์ พ่อแม่พันธุ์ต้องอยู่ในสภาพพร้อมผสมพันธุ์ได้จริง+ เลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีลักษณะดี ไม่พิการ มีสีสันเข้ม เด่นชัด มีความแข็งแรงปราดเปรียว และมีขนาดใหญ่ปานกลางเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายเติบโตเร็ว การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลา หลังจากที่มีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์แล้ว การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ก็นับเป็นสิ่งสำคัญในการเพาะพันธุ์ปลา หากพ่อแม่พันธุ์มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่แล้ว จะสามารถเพาะพันธุ์ได้โดยง่าย ปลาจะผสมพันธุ์และวางไข่ได้เอง ตามธรรมชาติ ปลาทองที่จะนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ควรมีอายุประมาณ 5-6 เดือนขึ้นไป ถ้าอายุน้อยจะทำให้ลูกปลาที่ได้พิการเป็นส่วนมาก การเลี้ยงปลาทองเพื่อให้เป็นพ่อแม่พันธุ์สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อซีเมนต์ บ่อดิน ตู้กระจก อ่างปลา ฯลฯ ที่มีระดับความลึกพอประมาณ (20-40 เซนติเมตร) ถ้าพ่อแม่พันธุ์ปลามีขนาด 3-4 นิ้ว ปล่อยตารางเมตรละ 4-6 ตัวยกเว้นพ่อแม่ปลาทองบางพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ จำเป็นต้องเลี้ยงในบ่อที่ใหญ่ขึ้นด้วย กรณีที่มีการเลี้ยงในบ่อที่มีการแยกของเสียและตะกอนออกไปตลอดเวลา ความหนาแน่นอาจเพิ่มเป็น 10 - 20ตัว (ขนาด 3-4 นิ้ว) / 1 ตารางเมตร ทำเลที่เหมาะสมในการสร้างบ่อพ่อแม่พันธุ์ปลาทอง คือ บริเวณที่แสงแดดส่องได้บ้างในเวลาเช้าหรือเย็น หากเป็นที่โล่งแจ้งต้องทำหลังคาหรือร่มเงาให้ส่องแสงลงได้เพียง 40-60% บ่อที่ได้รับแสงแดดที่พอเหมาะจะสามารถควบคุมการเจริญเติบโตของตะไคร่น้ำและแพลงก์ตอนพืช(Phytoplankton) ให้อยู่ในปริมาณที่พอดีทำให้น้ำในบ่อใสสะอาดอยู่เสมอ เหมาะกับความเป็นอยู่ของปลาและจะช่วยให้ปลามีสีสันสวยขึ้นด้วย ในทางตรงข้ามหากแสงสว่างส่องมากเกินไป จะทำให้ตะไคร่น้ำและแพลงก์ตอนพืช เจริญเร็วมากเกินต้องการ น้ำจะเขียวจัดและเป็นเหตุให้ออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำเปลี่ยนแปลงเร็วมากในรอบวัน ซึ่งเป็นอุปสรรค ต่อความสมบูรณ์ทางเพศของปลา นอกจากนี้แสงแดดจะทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปด้วย หากเลี้ยงปลาทองไว้ในบ้านแสงสว่างจากหลอดไฟฟ้า ที่ส่องลงในตู้โดยตรง สามารถใช้ทดแทนแสงแดดได้เช่นกัน แต่ความสมบูรณ์ทางเพศของปลาจะไม่ดีเท่ากับเลี้ยงไว้นอกบ้าน เนื่องจากปลาเลี้ยงในตู้จะตื่นตกใจง่ายทำให้การพัฒนาของไข่ชะงักไป บ่อหรือภาชนะที่ใช้เลี้ยงพ่อแม่ปลาทองจำเป็นต้องมีวัสดุคลุมเพื่อป้องกันศัตรูปลา เช่น แมว งู นก เป็นต้น ทั้งนี้เพราะปลาทองเป็นปลาที่ว่ายน้ำเชื่องช้า และชอบกินอาหารบริเวณผิวน้ำ เป็นการเปิดโอกาสให้ศัตรูทำร้ายได้ง่าย (วัสดุคลุมปิดควรมีความโปร่งแสงเพื่อให้แสงแดดส่องถึงและอากาศถ่ายเทได้ ปกตินิยมทำด้วยตาข่ายพลาสติกกรองแสง) น้ำที่ใช้เลี้ยงปลาทอง ควรเป็นน้ำที่สะอาด มีความเป็นกรด - ด่าง (pH) 6.8-7.5 มีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิกรัม/ลิตร จึงจำเป็นต้องมีระบบเพิ่มออกซิเจนในบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ตลอดเวลา ความกระด้าง (Hardness) 75-100 มิลลิกรัม/ลิตร และความเป็นด่าง (Alkalinity)150 - 200 มิลลิกรัม/ลิตร ระดับความลึกของน้ำที่เหมาะสมคือ 30-40 เซนติเมตร การเลี้ยงปลาทองในบ่อที่มีระดับน้ำสูงเกินไปมักจะทำให้ปลาทองเสียการทรงตัวได้ง่าย โดยเฉพาะสายพันธุ์หัวสิงห์ ต้องมีการถ่ายเทน้ำบ่อยหรือทุก ๆ วัน โดยดูดน้ำเก่าทิ้งไป 25% ของน้ำทั้งหมดแล้ว เติมน้ำใหม่ลงไปให้มีปริมาณเท่าเดิม ควรแยกเลี้ยงปลาที่จะนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ไว้คนละบ่อ เพื่อให้ปลามีความสมบูรณ์แข็งแรงจริง ๆ ในช่วงที่ปลากำลังฟิตตัวเพื่อเตรียมผสมพันธุ์ไม่ควรให้อาหารมากเกินไปจะทำให้ปลาอ้วน และไม่ควรเลี้ยงพ่อแม่ปลาทองจำนวนมาก ๆ ในบ่อเดียวกัน เนื่องจากปลาทองเกือบทุกพันธุ์เป็นปลาที่ค่อนข้างอ่อนแอ มีลักษณะลำตัว หัวและครีบบอบบางอาจฉีกขาดหรือเป็นแผลและเสียการทรงตัวได้ง่าย อีกทั้งปลาทองเป็นปลาที่กินอาหารมากและรวดเร็ว หากเลี้ยงปลารวมกันเป็นจำนวนมากตัวที่กินอาหารช้ากว่าจะแย่งอาหารไม่ทัน ทำให้มีการเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ทางเพศช้า ไม่สามารถเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ตามกำหนด และไม่ควรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาทองหลายสายพันธุ์ในบ่อเดียวกัน นอกจากอุปนิสัยที่แตกต่างกันจะทำให้เป็นอุปสรรคของความสมบูรณ์เพศแล้ว อาจเกิดการผสมข้ามพันธุ์โดยบังเอิญทำให้ได้ลูกปลาที่มีลักษณะที่ตลาดไม่ต้องการ ตามปกติพ่อแม่พันธุ์ปลาทองสามารถผสมพันธุ์วางไข่ได้เกือบตลอดปี ยกเว้นในช่วงอุณหภูมิลดต่ำกว่าปกติอย่างมาก ซึ่งในระยะนี้ปลาจะกินอาหารน้อยลงทำให้ความสมบูรณ์ทางเพศลดลงและชะงักการผสมพันธุ์ หากสามารถควบคุมอุณหภูมิของน้ำได้โดยการใช้เครื่องเพิ่มอุณหภูมิในน้ำ (Heater) โดยให้น้ำมีอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียสตลอดเวลา พ่อแม่พันธุ์ปลาทองก็จะสามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี สำหรับแม่ปลาตัวหนึ่ง ๆ นั้นจะสามารถวางไข่ได้ทุกระยะประมาณ 2-4 สัปดาห์/ครั้ง การคัดเพศปลาทอง การสังเกตเพศปลานับเป็นสิ่งสำคัญในการเพาะพันธุ์ปลาทอง โดยปกติความแตกต่างระหว่างเพศของปลาทองจะเริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อปลามีอายุประมาณ 2-4 เดือนขึ้นไปโดยจะสามารถสังเกตเห็นได้จากลักษณะภายนอก ซึ่งปลาทองตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังตารางและ ภาพที่ 38-40
ตารางเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างเพศ
ลักษณะที่ใช้เปรียบเทียบ
เพศเมีย
เพศผู้
1. รูปร่าง (Body shape)
- ลำตัวค่อนข้างอ้วนและป้อมกว่าตัวผู้
- ลำตัวค่อนข้างยาวกว่าเพศเมีย
2. ผนังส่วนท้อง (Abdominal wall)
- กลม และมีความอ่อนนุ่ม
- แบนและแข็ง
3. รูทวาร (Anal pore)
- รูทวารมีลักษณะค่อนข้างกลม
- เป็นรูปวงรีชั้นเดียว เมื่อใช้มือรีดที่ท้องเบา ๆ น้ำเชื้อสีขาวขุ่นจะไหลออกมา
4. ครีบอก (Anal pore)
- เรียบ
- จะมีตุ่มสีขาวขุ่น ๆ ปรากฏให้เห็นโดยเฉพาะที่เส้นก้านครีบแข็ง
5. กระพุ้งแก้ม (Operculum)
- ลื่นและเรียบ
- บริเวณกระพุ้งแก้มจะมีตุ่มสีขาวขุ่นบนกระพุ้งแก้ม

ไม่มีความคิดเห็น: